ดาวศุกร์ (อังกฤษ: Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 เมื่อมองจากโลกในตอนกลางคืน ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าซึ่งสว่างรองลงมาจากดวงจันทร์ ดาวศุกร์มีวงโคจรอยู่ภายในวงโคจรของโลก ทำให้เมื่อสังเกตแล้วจะไม่ปรากฏว่าห่างจากดวงอาทิตย์มากนัก กล่าวคือ จะเห็นในตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตก เรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หรือเห็นในตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออก เรียกว่า “ดาวประกายพรึก” หรือ “ดาวรุ่ง”ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ช้ามากและหมุนรอบตัวเองช้าเช่นกัน โดยโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 224.7 วันของโลก และหมุนรอบตัวเองครบบริบูรณ์โดยใช้เวลา 243 วันของโลก แต่มีความยาววันสุริยคติ 117 วันของโลก ด้วยเหตุนี้ ดาวศุกร์จึงจัดเป็นดาวที่หมุนรอบตัวเองช้าที่สุดในระบบสุริยะ นอกจากนี้ ดวงอาทิตย์บนดาวศุกร์จะขึ้นทางทิศตรงกันข้ามกับโลก คือ ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก ดาวศุกร์ไม่มีบริวารธรรมชาติเช่นเดียวกับดาวพุธ
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์หิน และมักกล่าวว่าเป็นดาวน้องสาวของโลก ด้วยเหตุที่มีขนาดใกล้กัน มวลเกือบเท่ากัน อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เหมือนกัน และมีส่วนประกอบเป็นหินเหมือนกัน อย่างไรก็ตามนั้น ดาวศุกร์มีลักษณะต่างจากโลกอย่างสุดขั้วในหลายด้าน อาทิ มีความหนาแน่นบรรยากาศสูงสุดในบรรดาดาวเคราะห์หินทั้งสี่ดวง ความดันบรรยากาศบนดาวศุกร์มีค่าประมาณ 92 เท่าของความดันบรรยากาศโลกที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ในบรรยากาศนั้นก็ประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 96% อุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวศุกร์มีค่า 737 K (464 °C; 867 °F) ซึ่งสูงกว่าดาวพุธซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์มีเมฆซึ่งประกอบด้วยกรดซัลฟิวริก สะท้อนแสงได้ดีมาก จนไม่เห็นพื้นผิวในย่านแสงที่มองเห็น ในอดีตเชื่อว่า ดาวศุกร์เคยมีมหาสมุทร แต่ต่อมามหาสมุทรระเหยเหือดแห้งไปอันเนื่องจาก ปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบควบคุมไม่ได้ (runaway greenhouse effect)น้ำที่ระเหยไปนั้นเชื่อว่าอาจถูกสลายด้วยแสง และไฮโดรเจนจากน้ำก็ถูกนำออกไปในบรรยากาศโดยลมสุริยะ
การที่ดาวศุกร์มีความสว่างมากนี้เอง ทำให้มนุษย์มีความสนใจใคร่รู้และจดบันทึกการโคจร นับแต่สองพันปีก่อนคริสตกาล ครั้นพัฒนาการสำรวจอวกาศได้รุดหน้า มนุษย์ได้สนใจใคร่รู้และสำรวจดาวศุกร์เป็นดาวแรกเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยยานมารีเนอร์ 2 แปดปีต่อมายานเวเนรา 7ก็ลงจอดยังผิวดาวศุกร์ ถึงกระนั้น เนื่องจากดาวศุกร์มีเมฆหนาทึบ การสำรวจพื้นผิวในรายละเอียดก็ไม่สามารถกระทำได้ดีนัก จนกระทั่งมียานมาเจลลัน สำรวจดาวศุกร์เมื่อ พ.ศ. 2534 ในปัจจุบันมีความพยายามศึกษาความเป็นไปได้ของชีวิตบนดาวศุกร์ ซึ่งยังเป็นหัวข้อวิจัยที่มีการถกเถียงกันอย่างมากอยู่
ชื่อของดาวศุกร์ในภาษาอังกฤษ มีที่มาจากเทพีแห่งความรักในเทพปกรณัมโรมัน ส่วนในภาษาไทย มาจากเทพพระศุกร์ หรือศุกระ ผู้เป็นครูของมารและเป็นเทพแห่งความงาม สัญลักษณ์ของดาวศุกร์ในทางโหราศาสตร์และดาราศาสตร์สากล คือ ♀ อันเป็นสัญลักษณ์แทนเพศหญิง ส่วนในโหราศาสตร์ไทย ใช้ ๖ (เลขหกไทย)
ดาวศุกร์ ลักษณะทางกายภาพ
ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์หินในจำนวนทั้งหมด 4 ดวงในระบบสุริยะ ซึ่งหมายความว่า ส่วนประกอบอันประกอบขึ้นเป็นดาวศุกร์นั้นเป็นหินเช่นเดียวกับโลก ยิ่งกว่านั้น ดาวศุกร์มีขนาดและมวลเท่ากับโลก จึงถูกขนานนามว่าเป็น น้องสาว หรือ ฝาแฝด ของโลก เส้นผ่านศูนย์กลางของดาวศุกร์คือ 12,103.6 km (7,520.8 mi) ซึ่งเล็กกว่าโลกไป 638.4 km (396.7 mi) นอกจากนี้ยังมีมวล 81.5% ของมวลโลก อย่างไรก็ตามนั้น สภาวะบรรยากาศบนดาวศุกร์ต่างจากบนโลกอย่างมาก บรรยากาศของดาวศุกร์ประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 96.5% มีไนโตรเจนเพียง 3.5% ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิที่ผิวดาวศุกร์มีค่า 9.3 เมกะปาสกาล (93 บาร์) และ 737 K (464 °C; 867 °F) ตามลำดับ ซึ่งอยู่สูงกว่าจุดวิกฤตทางอุณหพลศาสตร์ เป็นเหตุให้บรรยากาศของดาวศุกร์มีลักษณะเป็นของไหลวิกฤตยวดยิ่ง
บรรยากาศและภูมิอากาศ
โครงสร้างเมฆของดาวศุกร์ ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2559 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดาวศุกร์มีบรรยากาศหนาแน่นมากถึงขั้นที่ว่าสสารในบรรยากาศเป็นของไหลวิกฤตยวดยิ่ง คือถูกอัดอย่างมากแต่ไม่ถึงกับเป็นของแข็ง มวลของบรรยากาศของดาวศุกร์มีค่า 92 เท่าของโลก ส่วนความดันบรรยากาศบนดาวศุกร์พื้นผิวมีค่า 93 เท่าของโลก ซึ่งเทียบได้กับความดันในมหาสมุทรลึก 1 km (5⁄8 mi) บนโลก ความหนาแน่นบนพื้นผิวดาวศุกร์มีค่า 65 kg/m3 คือประมาณ 6.5% ของน้ำ หรือ 50 เท่าของความดันบรรยากาศโลกที่ระดับน้ำทะเลปานกลางอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส (293 เคลวิน; 20 องศาเซลเซียส; 68 องศาฟาเรนไฮต์)* ด้วยเหตุที่ดาวศุกร์มีคาร์บอนไดออกไซด์มาก ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกรุนแรงที่สุดในระบบสุริยะ อุณหภูมิบนดาวศุกร์สูงอย่างน้อย 462 องศาเซลเซียส (735 เคลวิน; 462 องศาเซลเซียส; 864 องศาฟาเรนไฮต์)*. ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดาวพุธ อนึ่ง ดาวพุธได้ฉายาว่า เตาไฟแช่แข็ง ด้วยเหตุที่อุณหภูมิพื้นผิวต่ำสุดมีค่า −220 องศาเซลเซียส (53 เคลวิน; −220 องศาเซลเซียส; −364 องศาฟาเรนไฮต์)* และอุณหภูมิสูงสุดมีค่า 427 องศาเซลเซียส (700 เคลวิน; 427 องศาเซลเซียส; 801 องศาฟาเรนไฮต์)*, ดาวศุกร์มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์เกือบสองเท่าของระยะห่างระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์ เป็นเหตุให้ดาวศุกร์ได้รับพลังงานจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ประมาณ 25% แต่กลับมีอุณหภูมิสูงมากก็ด้วยภาวะเรือนกระจก แก๊สในบรรยากาศกักความร้อนมิให้ออกจากบรรยากาศ ตารางต่อไปนี้แสดงอุณหภูมิที่ภาวะต่าง ๆ ของดาวศุกร์
บรรยากาศของดาวศุกร์อุดมไปด้วยแก๊สเฉื่อยเช่นเดียวกับบนโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของดาวศุกร์ซึ่งก่อกำเนิดแบบเดียวกับโลก ในระยะแรกนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีน้ำในบรรยากาศดาวศุกร์แบบเดียวกับโลก ต่อมาเมื่อดาวศุกร์ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ ตลอดจนถึงเกิดภาวะเรือนกระจก ก็ทำให้น้ำในบรรยากาศดาวศุกร์อันตรธานหายไป แม้ว่าอุณหภูมิบนดาวศุกร์จะไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งมีชีวิต แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าเมฆชั้นบนที่ความสูง 50 km (30 mi) จากพื้นผิว ซึ่งมีอุณหภูมิ 30 และ 80 องศาเซลเซียส (303 และ 353 เคลวิน; 30 และ 80 องศาเซลเซียส; 86 และ 176 องศาฟาเรนไฮต์)* ก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่ทนต่อกรดรุนแรงได้บ้างอาศัยอยู่
บนดาวศุกร์ เหนือชั้นคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเมฆหนาซึ่งอุดมไปด้วยกรดซัลฟิวริกผสมกับน้ำ และมีเฟอร์ริกคลอไรด์ ประมาณ 1% นอกจากนี้อาจมีเฟอร์ริกซัลเฟต อะลูมิเนียมคลอไรด์ และ ฟอสฟอริกแอนไฮไดรด์ เมฆของดาวศุกร์ที่ระดับความสูงต่างกันมีส่วนประกอบต่างกัน และมีการจำแนกขนาดอนุภาคไม่เหมือนกัน เมฆเหล่านี้สะท้อนและกระเจิงแสงจากดวงอาทิตย์ประมาณ 90% ออกไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นผิวของดาวศุกร์ และทำให้พื้นผิวดาวศุกร์มืดมัวกว่าพื้นผิวโลก เหนือเมฆของดาวศุกร์มีลมพัดด้วยอัตราเร็วประมาณ 300 km/h (190 mph) ไปรอบดาวศุกร์โดยใช้เวลา 4-5 วันของโลก บนดาวศุกร์อัตราเร็วลมมีค่าได้ถึง 60 เท่าของอัตราเร็วการหมุน แต่บนโลกลมที่แรงที่สุดมีอัตราประมาณ 10-20% ของอัตราเร็วการหมุนของโลก
พื้นผิวดาวศุกร์มีสภาวะไอโซเทอร์มัล หมายถึง อุณหภูมิบนพื้นผิวมีค่าเท่ากันตลอดทั้งขั้วและเส้นศูนย์สูตร มุมเอียงแกนของดาวศุกร์มีค่าน้อยกว่า 3° เมื่อเทียบกับโลกซึ่งมีมุมเอียง 23° ทำให้ไม่เกิดฤดูกาลบนดาวศุกร์ ความสูงจากพื้นผิวถือเป็นปัจจัยไม่กี่อย่างที่ส่งผลต่ออุณหภูมิบนผิวดาวศุกร์ จุดสูงสุดบนดาวศุกร์ คือภูเขาแม็กซเวลล์มอนทีส จัดเป็นจุดที่อุณหภูมิต่ำที่สุดบนดาวศุกร์ มีอุณหภูมิประมาณ 380 องศาเซลเซียส (653 เคลวิน; 380 องศาเซลเซียส; 716 องศาฟาเรนไฮต์)* และมีความดันบรรยากาศประมาณ 4.5 MPa (45 bar)
ในปี พ.ศ. 2538 ยานอวกาศมาเจลลันถ่ายภาพที่เชื่อว่าเป็นหิมะบนภูเขาแม็กซเวลล์มอนทีส สสารดังกล่าวมีกระบวนการก่อตัวคล้ายหิมะแต่อยู่ในสภาพที่มีอุณหภูมิสูงมาก นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า สสารดังกล่าวอาจเป็นเทลลูเรียม หรือ กาลีนา (ตะกั่วซัลไฟด์) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ยานวีนัสเอ็กซเพรสค้นพบมวลอากาศเย็นที่ขั้วใต้ของดาวศุกร์ สี่ปีต่อมา ยานวีนัสเอ็กซเพรสยังค้นพบชั้นโอโซนในบรรยากาศของดาวศุกร์อีกด้วย
ภูมิศาสตร์
พื้นผิวและสภาพภูมิศาสตร์ของดาวศุกร์เป็นที่สนใจใคร่รู้ของบรรดานักดาราศาสตร์ทั้งหลายจนกระทั่งมีการส่งยานอวกาศไปยังดาวศุกร์ ในปี พ.ศ. 2518 และ 2525 ยานเวเนราได้ส่งภาพพื้นผิวของดาวศุกร์มายังโลก ซึ่งประกอบด้วยตะกอนและหินเหลี่ยม ต่อมายานมาเจลลัน ได้บันทึกภาพพื้นผิวของดาวศุกร์ในรายละเอียดระหว่าง พ.ศ. 2533-34 ทำให้เห็นถึงการเกิดภูเขาไฟจำนวนมากบนดาวศุกร์ ในบรรยากาศก็เต็มไปด้วยกำมะถัน ซึ่งอาจบ่งถึงการปะทุของภูเขาไฟบ่อยครั้ง
พื้นผิวของดาวศุกร์ประมาณร้อยละ 80% เป็นพื้นผิวจากเถ้าภูเขาไฟ ในจำนวนนี้ 70% เป็นที่ราบและเนินลอนคลื่น และ 10% เป็นที่ราบเนินกลม ส่วนที่เหลือเป็น “ทวีป” หรือที่ราบสูงสองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ซีกเหนือ อีกแห่งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรไปไม่ไกล ทวีปเหนือของดาวศุกร์เรียกว่า อิชตาร์เทอร์รา (Ishtar Terra) ตามชื่อของอินันนา เทพเจ้าแห่งความรัก มีขนาดประมาณทวีปออสเตรเลีย ทวีปนี้เป็นที่ตั้งของภูเขาที่สูงที่สุดบนดาวศุกร์ ชื่อว่า แม็กซเวลล์มอนทีส มีความสูงเฉลี่ยจากพื้นผิวปานกลาง 11 km (7 mi) ทวีปใต้ของดาวศุกร์เรียกว่า อะโฟรไดต์เทอร์รา (Aphrodite Terra) ตามชื่อเทพีแห่งความรักของกรีก มีขนาดใหญ่กว่าทวีปเหนือ และมีขนาดประมาณทวีปอเมริกาใต้ ทวีปใต้ของดาวศุกร์ประกอบด้วยรอยเลื่อนและรอยแตกจำนวนมาก
แม้ว่าดาวศุกร์จะมีหลุมภูเขาไฟจำนวนมาก แต่ร่องรอยการไหลของลาวากลับไม่ปรากฏชัดเจน พื้นผิวของดาวศุกร์มีหลุมอุกกาบาตน้อยมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผิวดาวศุกร์มีอายุไม่มากนัก ประมาณ 300-600 ล้านปี เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์หิน ทำให้มีหลุมอุกกาบาต ภูเขา หุบเขา รวมไปถึงภูเขาไฟยอดตัด เรียกว่า ฟาร์รา (farra) มีสัณฐานคล้ายขนมบ้าบิ่น และมีขนาดกว้างประมาณ 20 ถึง 50 km (12 ถึง 31 mi) สูงประมาณ 100 ถึง 1,000 m (330 ถึง 3,280 ft) นอกจากภูเขาไฟยอดตัด ก็มีโครงสร้างที่เรียกว่า โนวี (novae) ซึ่งคล้ายกับดาว โครงสร้างที่เรียกว่าอะแรกนอยด์ (arachnoid) ซึ่งคล้ายกับใยแมงมุม และโครงสร้างที่เรียกว่าโคโรนี (coronae) ลักษณะคล้ายวงแหวนมีแอ่งต่ำล้อมรอบ ลักษณะทางดาราธรณีวิทยาเหล่านี้ล้วนเกิดจากภูเขาไฟ
บรรดาภูเขาและสิ่งต่าง ๆ บนพื้นผิวดาวศุกร์ ตั้งชื่อตามสตรีในประวัติศาสตร์และในเทพปกรณัม ยกเว้น ภูเขาแม็กซเวลล์มอนทีสซึ่งตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เจมส์ คลาร์ก แม็กซเวลล์ รวมถึงยกเว้นแอลฟาเรจิโอ เบตาเรจิโอ และโอฟดาเรจิโอ ซึ่งตั้งชื่อก่อนที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล จะกำหนดระบบใหม่ขึ้น ตำแหน่งเมอริเดียนหลักของดาวศุกร์นั้น เดิมทีกำหนดให้พาดผ่านขั้วทั้งสองและผ่านจุดอีฟ ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของแอลฟาเรจิโอ ต่อมาเมื่อยานเวเนราสำรวจดาวศุกร์สำเร็จแล้ว จึงปรับตำแหน่งเมอริเดียนหลักให้ผ่านยอดเขาซึ่งอยู่ในหลุมอาเรียด ซึ่งตั้งบนที่ราบต่ำเซดนาพลานิเทีย ยานวีนัสเอ็กซ์เพรสและยานมาเจลลันค้นพบว่า พื้นผิวบางส่วนของดาวศุกร์มีลักษณะบิดเบี้ยวมาก เรียกว่า เทสเซอรา เมื่อสังเกตโดยใช้การถ่ายภาพจะพบว่ามีสภาพแผ่ความร้อนน้อยกว่าที่ราบบะซอลต์ที่อยู่โดยรอบ ดาวศุกร์